14 ข้อกลโกงมิจฉาชีพ มักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565    |    1917 อ่าน

ตร.เตือนภัยประชาชน 14 ข้อกลโกงมิจฉาชีพ มักใช้ในการหลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์

1. หลอกขายของออนไลน์ แต่ไม่ส่งสินค้าจริง หรือส่งสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ตกลง หรือไม่มีคุณภาพมาให้ โดยมิจฉาชีพ จะนำภาพสินค้าจากอินเตอร์เน็ตหรือภาพจากผู้ใช้งานท่านอื่นที่ขายสินค้าจริง แล้วนำมาโพสต์ขายในช่องทางของตัวเอง เพื่อหลอกให้ลูกค้าหลงเชื่อว่ามีสินค้านั้นอยู่จริง และโอนเงินสั่งซื้อ แต่จะไม่ส่งสินค้า หรือส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลง

2. คอลเซ็นเตอร์ ( Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวโทรศัพท์หาเหยื่อ โดยปลอมเป็นหมายเลขโทรศัพท์หน่วยงานภาครัฐ  แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยอ้างว่าเหยื่อ มีความผิด เช่น เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดฟอกเงิน  ยาเสพติด ส่งของผิดกฎหมาย กระทำเป็นกระบวนการอ้างเจ้าหน้าที่หลายส่วนสร้างความน่าเชื่อถือ บังคับ ขู่เข็ญ สร้างความหวาดกลัวเพื่อให้โอนเงินในบัญชีให้คนร้ายเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ         หรือสำหรับการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ เมื่อหลงเชื่อก็จะสูญเงินในบัญชีจนหมด

3. เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด

ดอกเบี้ยโหด ปล่อยเงินกู้ออนไลน์ โดยกลุ่มมิจฉาชีพ จะหลอกว่ามีบริการเงินกู้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยราคาถูก  ผ่อนจ่ายระยะยาว แต่เมื่อทำสัญญาแล้ว กลับไม่ได้รับเงินกู้ตามจำนวนที่ตกลง อีกทั้งดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย มีการทวงหนี้โดยการส่งข้อความ หรือโทรหาบุคคลใกล้ชิด 

4. เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) 

ในกรณีนี้จะต่างจากกรณีข้างต้น คือ แก๊งมิจฉาชีพจะหลอกผู้เสียหายว่าก่อนได้รับเงินกู้ จะต้องเสียค่าบริการ ค่ามัดจำ หรือค่าดำเนินการต่างๆ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เรื่อยๆ จนสุดท้ายก็ไม่ได้รับเงินกู้จริงตามที่กล่าวอ้าง

5. หลอกให้ลงทุนต่างๆ ผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหาย ลงทุนต่างๆ เช่น ลงทุนธุรกิจ หรือ ลงทุนแชร์ลูกโซ่ ฯลฯ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะเสนอผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก ได้เงินไว แรกๆ อาจจะได้รับผลจริง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากขึ้น   ก็จะเริ่มบ่ายเบี่ยง ไม่ให้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้

6. หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ 

มิจฉาชีพจะหว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆ เช่นการการันตีผลตอบแทน ให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุนหรือเล่นการพนันออนไลน์ ซึ่งหากถูกโกงจากการพนันออนไลน์แล้ว อาจไม่สามารถแจ้งความหรือดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้

7. ปลอมโปรไฟล์หลอกให้หลงรัก แล้วหลอกให้โอนเงิน หรือให้ลงทุน Romance Scam – Hybrid Scam

หลอกให้หลงรักก่อน จากนั้นหลอกให้โอนเงิน หรือ หลอกให้ลงทุน กลุ่มมิจฉาชีพจะทำงานเป็นขบวนการ โดยจะปลอมตัวโดยใช้รูปภาพและโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติ ที่ดูดีมีฐานะ ทักมาคุยสร้างความสนิทสนม บางครั้งมักหาเหยื่อจากแอพหาคู่ จากนั้นจะหลอกผู้เสียหายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จะส่งของมาให้ หรือหลอกให้ลงทุนรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น ลงเงินกองทุนทองคำ เงินดิจิทัล Forex เป็นต้น ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้เป็นจำนวนมาก

8. ส่งลิงค์ปลอมหลอกแฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัว ขโมยข้อมูลโทรศัพท์ , บัญชีธนาคาร

มิจฉาชีพจะส่งข้อความต่างๆ เช่น “ท่านได้รับความช่วยเหลือต่างๆ ท่านเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล” หรือแม้กระทั่งหลอกว่าเป็นลิงก์จากหน่วยงานรัฐหรือธนาคาร ให้ผู้เสียหายกดลิงก์เข้าไปเพื่อตรวจสอบข้อมูล แต่เมื่อกดลิงก์เข้าไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะแฮ็กข้อมูลในโทรศัพท์หรือบัญชีธนาคาร

 9. อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลสำคัญ เช่น รหัส OTP ข้อมูลหลังบัตรประชาชน มิจฉาชีพจะอ้างตัวเป็นองค์กรหรือบุคคลอื่น  หลอกขอข้อมูลส่วนตัว เช่น รหัส OTP เมื่อได้ข้อมูลของเหยื่อแล้ว จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการกระทำความผิด เช่น เข้าถึงธุรกรรมทางการเงินแล้วขโมยเงินจากบัญชีของเหยื่อ หรือใช้รับโอนเงินจากการกระทำความผิด 

10. ปลอมบัญชีไลน์ (Line) , เฟสบุ๊ก (Facebook)  หลอกยืมเงิน มิจฉาชีพจะปลอมหรือลักลอบใช้ Account ของบุคคลที่เหยื่อรู้จัก เพื่อมาหลอกยืมเงิน โดยใช้คำพูดหรือสรรพนาม   ที่คุ้นเคย ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นตัวจริง ควรโทรไปสอบถามโดยตรงอีกครั้งหนึ่ง

11. ข่าวปลอม (Fake news) ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ (ชัวร์ก่อนแชร์)

Fake news หรือข้อมูลข่าวปลอมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ความมั่นคง ความปลอดภัยสาธารณะ หรือสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม ให้ตรวจสอบข้อมูลก่อนแชร์ทุกครั้ง หากไม่แน่ใจแหล่งที่มา ไม่ควรแชร์ต่อในทันที เพราะอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลก่อนให้ชัวร์ก่อนแชร์ได้ที่ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย  Anti – Fake News Center Thailand https://www.antifakenewscenter.com

12. หลอกลวงให้ถ่ายภาพโป้เปลือย เพื่อใช้แบล็คเมล์ คนร้ายหลอกลวงล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ด้วยวิธีการ “หลอกให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า ท้าให้เปิดกล้อง” จำให้ขึ้นใจว่า อย่าถ่ายภาพ อย่าส่งภาพ คลิป ลามกอนาจาร ให้คิดไว้เสมอว่าภาพของเราอาจหลุดไปโลกออนไลน์ได้ หากหลงกลอาจถูกแบล็กเมล์ ข่มขู่เอาทรัพย์สิน 

13. โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศ แล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย

ลักษณะงานแอดมิน โต้ตอบลูกค้าชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยจูงใจ ให้ค่าตอบแทนสูง สวัสดิการมากมาย อาจถูกหลอกลวงบังคับใช้แรงงาน ล่วงละเมิดทางร่างกาย หรือหากหลงไปทำงานกับกลุ่มมิจฉาชีพ แก๊งคอลเซนเตอร์ หลอกลงทุน หรือรูปแบบอื่น เป็นเครื่องมือช่วยหลอกลวงทรัพย์สินคนไทยด้วยกัน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายไทย 

14. ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน , ฟอกเงิน รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร หรือยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคารตนเอง เป็นเครื่องมือให้มิจฉาชีพนำไปใช้หลอกลวงผู้อื่น  ต้องรับโทษบทหนักตามกฎหมายเข้าข่ายความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ

เขียนโดย ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บก.อก.บช.ส.

แชร์ แชร์ Line ส่งข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง