เปิดวิธีป้องกัน 'ข่าวปลอม' ลวงลึกหลอกแชร์
วันที่ 1 มกราคม 2565 | 4088 อ่าน
เปิดวิธีป้องกัน 'ข่าวปลอม' ลวงลึกหลอกแชร์
เมื่อข่าวปลอม ไม่ได้มาเพียงแค่ตัวอักษร แต่ก้าวล้ำสู่ AI ปลอมวิดีโอคนดัง วิธีป้องกันและข้อสังเกตที่มนุษย์เน็ตต้องรู้ มีอะไรบ้าง ?
ทุกวันนี้ข่าวสารต่างๆ เลื่อนไหลผ่านหน้าจอมือถือ เพียงเลื่อนปลายนิ้วขึ้น-ลง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสิ่งที่เห็นเป็นข่าวจริงที่ถูกต้อง หรือข่าวปลอม (Fake News) ที่มาทั้งรูปแบบผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง ตลกขบขัน เสียดสี หรือเพื่อความสนุกสนานกันแน่
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมจุดสังเกตเบื้องต้นต่างๆ เพื่อเป็นปราการด่านแรกในการป้องกันและหลงเชื่อข่าวปลอม ยิ่งช่วงนี้กระแสข่าวทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะสงครามการเมือง ระหว่างสหรัฐและอิหร่าน โหมกระหน่ำเต็มโซเชียลมีเดีย
และด้วยเป็นยุคของเทคโนโลยี หรือดิจิทัลแล้ว "ข่าวปลอม" หรือ "Fake News" ไม่ได้มาแค่รูปแบบของตัวหนังสือ เล่าออกมาเป็นเรื่องราวข่าวสารเท่านั้น แต่ก็ยังมาในรูปแบบวิดีโอ หรือ Fake Video โดยระยะหลัง เริ่มมีขบวนการปลอมแปลงคลิปวิดีโอที่ใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ สร้างตัวตนคนมีชื่อเสียง ที่มีใบหน้าคล้ายตัวจริงจนแยกแทบไม่ออก รวมถึงให้สามารถขยับร่างกายและพูดได้เหมือนตัวจริงมาก ทั้งที่คนดังเหล่านั้นไม่เคยพูดประโยคนั้นเลย เรื่องนี้ค่อนข้างสร้างความกังวลมากขึ้น เมื่อหนึ่งในเหยื่อของข่าวปลอมรูปแบบนี้ คือ ทั้งสองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอย่าง โอบามา และ ทรัมป์
ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหลายองค์กรต่างพยายามพัฒนาระบบตรวจสอบข่าวปลอมขึ้นมาด้วยตัวเอง อย่าง Facebook ที่ออกมาบอกว่า ได้ใช้ AI เป็นหนึ่งในขั้นตอนของการตรวจสอบข่าวปลอมด้วย เรียกว่าหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง และยังเพิ่มแม่นยำ ด้วยการใช้คนเราตรวจสอบด้วยเช่นกัน
ส่วนรัฐบาลไทยก็ไม่น้อยหน้า ตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ขึ้นมา โดยเน้นย้ำตรวจสอบข่าวปลอมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง
แต่สำหรับ "เรา" เหล่ามนุษย์เน็ตทั้งหลาย เมื่อต้องเจอข่าวปลอม (Fake News)โดยตรงจากสื่อต่างๆ จะมีวิธีป้องกันตัวเอง หรือเตือนคนรอบข้างได้อย่างไรบ้าง?
- สังเกตหัวข้อข่าว ซึ่งข่าวปลอมมักจะมีพาดหัวข่าวที่สะดุดตา หวือหวา ดูไม่น่าเป็นไปได้ และมักจะใช้อักษรตัวหนา หรือเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)
- สังเกตลิงก์ข่าว มักจะเป็นลิงก์ข่าวที่ใช้ URL คล้ายกับของสำนักข่าว จนบางทีแทบแยกไม่ออก อาจปรับเปลี่ยนเล็กน้อยและเลียนแบบแหล่งข่าวจริง
- สังเกตชื่อแหล่งข่าวว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือเป็นที่รู้จักหรือไม่
- สังเกตสิ่งผิดปกติอื่นๆ เนื่องจากเว็บไซต์ข่าวปลอมมักสะกดคำผิด หรือวางเลย์เอาท์ไม่เป็นมืออาชีพ
- สังเกตรูปภาพหรือวิดีโอในข่าว มักบิดเบือนจากข่าวจริง หรือไม่เกี่ยวข้องกับกับเรื่องนั้นๆ เลย
- สังเกตวันที่ ลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ว่ามีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือเป็นการนำข่าวเก่าแล้วมาเปลี่ยนวันที่ใหม่หรือไม่
- สังเกตแหล่งข้อมูลที่มาในข่าว เช่น แหล่งข่าว
- สังเกตจากแหล่งที่มาอื่นๆ
- สังเกตจากบริบทของเนื้อหา เนื่องจากข่าวปลอมบางครั้งอาจมาในรูปแบบของการล้อเลียน เสียดสี หรือตลกขบขัน
- ระมัดระวังเรื่องที่จงใจให้เป็นข่าว
ขณะที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้บอกแนวทางเบื้องต้นไว้เช่นกัน ดังนี้
1.ตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวสารข้อมูล เช่น สำนักข่าว หน่วยงาน
2.ตรวจสอบแหล่งข้อมูลอื่นประกอบด้วย เพื่อจะได้ยืนยันว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เช่น โรคระบาด
3.ตรวจสอบหาต้นตอข่าว เพราะบางครั้งอาจเป็นข่าวเก่าที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือข้อมูลเก่า แล้วถูกนำมาเล่าใหม่ จุดประสงค์อาจใช้เพื่อเป็นประโยชน์แอบแฝง
4.สอบถามผู้เชี่ยวชาญโดยตรง
ขณะที่ กองปราบปราม ได้เตือนการนำข่าวปลอม ไม่ว่าจะทั้งหมดหรือเพียงแค่บางส่วน เขาไปในระบบคอมพิวเตอร์ รวมถึงการแชร์และส่งต่อข้อมูลเท็จจากแหล่งต่างๆ ล้วนมีความผิดทั้งนั้นตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เช่น
- โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง เช่น ข่าวปลอม โฆษณาธุรกิจลูกโซ่ที่หลอกเอาเงินลูกค้า ฯลฯ มีความผิดตามมาตรา 14(1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัย มีความผิดตามมาตรา 14(2) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อการร้าย มีความผิดตามมาตรา 14(3)
- โพสต์ข้อมูลลามกที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีความผิดตามมาตรา 14(4)
- เผยแพร่ ส่งต่อข้อมูลที่รู้ว่าผิด มีความผิดตามมาตรา 14(5)
อย่างไรก็ตาม แม้การตรวจสอบข่าวปลอมด้วยตัวเองอาจจะยากอยู่บ้างในบางกรณี แต่ก็ควรเกิดขึ้นทุกครั้งที่เราจับมือถือ
ที่มา : ETDA, กองปราบปราม https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/861198