รู้จัก Fake News ทั้ง 7 รูปแบบ ที่อาจเจอทุกวันบน Facebook และ Twister

วันที่ 1 มิถุนายน 2565    |    3620 อ่าน

ทุกวันนี้ปัญหาบนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นวงกว้างในทุกประเทศ ทุกสังคม และทุกวัฒนธรรมก็คือข่าวปลอมหรือข่าวที่มีเนื้อหาบิดเบือน ชวนเข้าใจผิด หรือมีวัตถุประสงค์ไม่ดีบางอย่างที่จะชักจูงเราให้ทำหรือช่วยเผยแพร่ในสิ่งที่ไม่ดี บรรดา Social Network ต่าง ๆ ล้วนแต่ต้องปวดหัวและหาวิธีการมาจัดการ ทีมงาน RAiNMAKER เคยพูดถึง Fake News แล้วในหลาย ๆ บทความ เช่น ย้อนดูเครื่องมือที่ Facebook ออกแบบมาสู้ข่าวปลอม และแนวคิดการรู้ทันสื่อโซเชียล หรือธรรมชาติของโลกออนไลน์อย่างปรากฏการณ์ Echo Chamber

อะไรคือนิยามของ Fake News

Fake News นั้นถ้าให้แปลตรง ๆ เลยก็คือข่าวปลอม ข่าวลวง หรือข่าวที่ไม่ได้เป็นความจริง คำว่า Fake News นั้นเป็นคำใหม่ (Neologism) ดังนั้นความหมายของมันจึงแล้วแต่การนิยามของแต่ละคน คุณ Michael Radutzk โปรดิวเซอร์ของรายการ 60 Miniutes ได้เคยนิยาม Fake News ไว้ว่า “stories that are provably false, have enormous traction in the culture, and are consumed by millions of people” หรือ เรื่องราวที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และมีผลกระทบในระดับความเชื่อ และเข้าถึงคนหลักล้าน

สำหรับลักษณะของ Fake News นั้น คุณ Claire Wardle จาก First Draft News ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอม ร่วมกับ Social Media และ Publisher อีกกว่า 30 ราย รวมถึง Facebook, Twitter, New York Times หรือ BuzzFeed ได้ ให้นิยาม 7 รูปแบบของข่าวปลอมไว้อย่างน่าสนใจ และเรียงตามความรุนแรง เธอได้ไอเดียจากการศึกษาข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ในช่วงการเลือกตั้งปี 2016 ที่จุดประเด็นเรื่อง Fake News ขึ้นมา (เธอเคยเขียนบทความชื่อ 6 Types of Election Fake News ไว้ใน Columbia Journlaism Review )

ผู้เขียนแนะนำว่าระหว่างอ่านแต่ละประเภทให้ลองนึกถึงคอนเทนต์ในชีวิตประจำวันว่าคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เราเจอนั้นจัดอยู่ในแบบไหนบ้าง

1.Satire or Parody เสียดสีหรือตลก

เชื่อว่าหลายคนคงจะนึกออก เวลามีเพจตลก เพจล้อเลียน พระนพดล, ข่าวปด, The Doubble Standard ต่าง ๆ ที่ทุกคนก็จะดูรู้ว่าเป็นเพจที่ทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน ทำให้มีพิษมีภัยน้อยที่สุดเนื่องจากทางผู้จัดทำเองก็ ไม่ได้มีเจตนาในการสร้างความเข้าใจผิดหรือมีวัตถุประสงค์ต้องการให้คนมาเชื่อ

2.False connection โยงมั่ว

การโยงมั่วคือการที่สองสิ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยแต่ถูกนำมากล่าวถึงในข่าวเดียวกันหรือทำให้มาเชื่อมโยงกัน คุณ Claire บอกว่าสิ่งนี้เกิดจาก Poor Journalism หรือความไม่รู้ไม่เข้าใจของคนเขียนข่าวหรือทำคอนเทนต์ หรือเกิดจากการพยายามหารายได้ ตัวอย่างของคอนเทนต์ที่เป็น False Connection ก็เช่น “น้ำมะนาวรักษาโรคมะเร็ง” หรือบทความที่ชอบขึ้นว่า “งานวิจัยเผย …” แล้วกลายเป็นว่าโยงไปขายของ หรือข่าวโลกแตกทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม False Connection จะยังไม่เป็นการหวังผลหรือชวนเชื่อในระดับสังคมวัฒนธรรมหรือการเมือง

3.Misleading ทำให้เข้าใจผิด

Misleading คือการเขียนข่าวหรือทำคอนเทนต์โดย จงใจให้เข้าใจผิด หรือการใช้คำอย่างนึงเพื่ออธิบายอีกอย่างนึง พอโดนจับได้ก็จะแถว่าก็เข้าใจผิดเองทั้ง ๆ ที่ตอนแรกคือหวังให้เขาเข้าใจผิดอยู่แล้ว Claire บอกว่าข่าวแบบนี้วัตถุประสงค์คือ ชวนเชื่อ หรือหวังผลทางการเมือง ตัวอย่างของคอนเทนต์ Misleading เราจะพบเห็นได้บ่อยกับพวกข่าวการเมือง

4.False Context ผิดที่ผิดทาง

กรณี False Context หรือ Quoting out of context คือการที่เอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริง เช่น รูป, ข้อความ, คำพูด แต่เอามาใช้แล้วพูดถึงอีกเรื่องนึง Claire อธิบายความแตกต่างของ False Context กับ Misleading ว่า False Context อาจเกิดจาก Passion (ไม่ได้แปลว่าความหลงไหล แต่หมายถึงว่า การที่เรายึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง) คอนเทนต์ที่เป็น False Context ก็เช่น การเอารูปภัยธรรมชาติในต่างประเทศมาแล้วเขียนบอกว่าเกิดขึ้นที่ประเทศไทย 

5.Impostor มโนที่มา

การมโนที่มาคือการรายงานข่าวแบบปกติ แล้วถ้าไม่ตรวจสอบดี ๆ ก็จะไม่รู้เลยว่าเป็น Fake News รูปแบบของมันคือการอ้างไปยังบุคคลหรือแหล่งข่าวเช่น คนนี้กล่าวไว้ว่า, นายกกล่าวไว้ว่า หรือ คนนู้นคนนี้เคยกล่าวไว้ว่า แต่จริง ๆ แล้วเป็นการที่คนทำคอนเทนต์หรือคนเขียนข่าวคิดหรือมโนขึ้นมาเอง Claire จัดให้ Imposter เป็นความรุนแรงระดับที่ 5 คือสร้างความเข้าใจผิดและความขัดแย้งในระดับวงกว้างได้

6.Manipulated ปลอม ตัดต่อ

การ Manipulated คือการปลอมหรือตัดต่อ ความรุนแรงของมันคือถ้าไม่สังเกตเราจะดูไม่ออก การตัดต่อนี้รวมถึงการตัดต่อภาพ, เสียง, วิดีโอ หรือแม้กระทั่งการเอา logo ของสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือมาใส่ ตัวอย่างของ Manipulated Content ก็เช่น การตัดต่อสร้างเรื่อง ตัดแปะ

7.Fabricated มโนทุกอย่างเลย

การ Fabricated คือขั้นที่รุนแรงที่สุดของ Fake News ตัวอย่างของมันเช่นการปลอมมันทั้งเว็บ เช่น การปลอมเป็น ข่าวสด ปลอมเป็นไทยรัฐ หรือการปลอมเป็นบุคคล แล้วรายงานข่าว อันนี้ร้ายแรงมาก เนื่องจากคนก็จะเข้าใจว่าเป็นสำนักข่าวนั้นจริง ๆ และก็ไม่ได้เป็นการล้อเลียนหรือ Parody ด้วย ถ้าคนที่ไม่รู้ก็จะดูไม่ออกเลยว่าเป็นเว็บข่าวปลอม ในไทยก็เคยมีกรณีนี้เกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ตรงนี้ก็ต้องอาศัยทุกคนช่วยกันตรวจสอบ

สำหรับกรณีของคุณ Claire เธอได้พบเจอปัญหาทั่งหมดนี้และสามารถแบ่งมันได้ชัดเจนที่สุดในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งในตอนนั้นโลกได้เห็นพลังของข่าวปลอมและการไม่รู้เท่าทันของคน รวมถึงการรู้ไม่เท่าทันต่อคนของ Social Media จะเห็นว่าแค่เลือกตั้งสหรัฐ 2016 งานเดียว สามารถสร้างความวุ่นวาย และเผยด้านลบ ของโลกออนไลน์ได้ทุกแง่จริง ๆ ตั้งแต่ Journalism ไปจนถึง Data Privicy

ดังนั้นช่วงนี้การเลือกตั้งไทยก็ใกล้เข้ามาเต็มที เราในฐานะทั้งคนที่เสพคอนเทนต์และผู้ทำคอนเทนต์ก็ต้องคอยช่วยกันสอดส่อง เพื่อไม่ให้บรรดา Fake News ทั้ง 7 รูปแบบนี้ มาสร้างความวุ่นวายในการเลือกตั้งหรือสร้างความแตกแยกให้กับคน เราอาจจะไม่สามารถไปกำจัดที่มาของมันได้ แต่การที่เรารู้เท่าทันนั้นก็ช่วยให้เราเตือนตัวเองและคนรอบข้างไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้

https://www.rainmaker.in.th/7-type-of-fake-news/

เขียนโดย ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บก.อก.บช.ส.

แชร์ แชร์ Line ส่งข้อมูล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

# หัวข้อข่าว